สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดสงขลา

วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง (การพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนบ้านหัวเขา) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และโครงการศึกษา ทดลอง วิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง (การพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนบ้านหัวเขา) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
โครงการดังกล่าวนี้ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช ชนนี มีพระราชดำริพระราชทานป่าไม้ให้แก่ปวงชนชาวไทย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  พ.ศ. 2539 โดยให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เป็นแกนกลางในการปลูกป่าพระราชทาน และให้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จึงได้มีนโยบายที่จัดทำโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนขึ้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี โดยให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ต่อมา มูลนิธิโททาลแห่งประเทศไทย ได้ขอเข้าร่วมโครงการและให้การสนับสนุนงบประมาณสมทบเพิ่มเติม  
มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้มอบหมายให้สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ตำบลหัวเขา โดยน้อมนำพระราชดำริมาสู่กระบวนการปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 

สถาบันทรัพยากรชายฝั่ง ได้ดำเนินการด้วยการเตรียมความพร้อมของชุมชนและองค์กร  โดยการจัดตั้งกลุ่มประสานงาน หรือชมรมฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้น จากตัวแทนราษฎรตำบลหัวเขา รวม 8 หมู่บ้าน เพื่อเป็นแกนกลางในการดำเนินกิจกรรมของชมรมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของ ชุมชน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบการฟื้นฟูและพัฒนาป่าชายเลน เกิดความสำนึกและตระหนักในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมที่ชุมชนนี้เคยพึ่งพิงอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลามา เป็นเวลาช้านาน
ราษฎรให้การตอบรับที่ดีต่อโครงการมากขึ้น จนส่งผลให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศน์ มีการร่วมกันปลูกป่าเพิ่มเติมและช่วยกันดูและรักษาป่าชายเลน ในพื้นที่ประมาณ 312 ไร่  นอกจากนี้ ชุมชนยังมีการขยายกิจกรรมต่อเนื่องต่างๆ ได้แก่ การเพาะกล้าไม้และขยายพื้นที่ปลูกป่า การจัดสร้าง ที่ทำการถาวรของชมรมฯ ในบริเวณพื้นที่โครงการฯ และการขยายผลไปสู่กลุ่มแม่บ้านและเยาวชน
รูปแบบของการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนที่ตำบลหัวเขา จึงเป็นอีกมิติหนึ่งของการเรียนรู้พัฒนาป่าไม้ที่อาศัยความเกี่ยวพันและ เกื้อกูลซึ่งกันและกันของมนุษย์และธรรมชาติ โครงการได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ โดยการบริหารจัดการขององค์กรชาวบ้าน ชมรมฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลนตำบลหัวเขา ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา เอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะได้ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแล้ว ยังได้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน และที่สำคัญเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมที่อยู่ อาศัยในชุมชนเดียวกัน

โครงการ ศึกษา ทดลอง วิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่ที่ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ดำเนินงานโครงการ 30 ไร่ แต่เดิมเป็นของนายเถกิง กาญจนะ ซึ่งได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานโดยจัดทำเป็นแปลงศึกษา ทดลอง วิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนทะเลสาบสงขลา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ คือ กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การดำเนินงานที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการดำเนินงาน โดยสำรวจข้อมูลทางกายภาพ ดิน น้ำ และวิถีชีวิตชุมชน พบว่า สภาพที่ดิน เป็นดินเค็มที่มีความเป็นกรดแฝง มีระดับความเค็มจัด และดินเปรี้ยวจัด มีการปรับสภาพพื้นที่ตามแบบพร้อมจัดทำระบบโครงสร้างคันคู เพื่อควบคุมระดับน้ำในพื้นที่โครงการฯ และจัดทำระบบควบคุมน้ำในพื้นที่โครงการฯ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ศึกษาหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ป่าชายเลน โดยการแบ่งพื้นที่ตามระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล ปัจจุบันพบว่า พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ ลำพู โกงกาง แสม และฝาด นอกจากนี้ ยังศึกษาวิจัยผลของการร่วงหล่นของซากพืชในป่าชายเลน  เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารและประเมินความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำชายฝั่ง สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านพันธุ์พืช  เพื่อใช้ในการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษาวิจัยการเจริญเติบโตของพันธุ์พืชป่าชายเลน และการสาธิตด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการสุ่มตัวอย่างและเก็บข้อมูลการเจริญเติมโตของพืชป่าชายเลน พบว่า การเพาะปลูกพืช จะต้องใช้การโอนย้ายต้นพืชที่มีขนาดลำต้นโตพอสมควร เนื่องจากต้นกล้าที่ปลูกจากฝัก มักมีสภาพอ่อนแอไม่สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมเป็นเวลานานได้ ต้นพืชที่มีความเหมาะสม ได้แก่ ฝาด ลำพู โพทะเล สมอทะเล เตยทะเล และเหงือกปลาหมอ เป็นต้น
กรมประมง ได้ดำเนินการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของแพลงตอน และสัตว์หน้าดินบริเวณพื้นที่โครงการฯ และพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา พบว่า ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีแพลงตอนพืช 60ชนิด แพลงตอนสัตว์ 12 ชนิด และสัตว์หน้าดิน 14 ชนิด พบมากที่สุดในเดือนมกราคมและเดือนพฤษภาคม ซึ่งบริเวณคูน้ำนอกโครงการฯ จะพบแพลงตอนมากที่สุด และคูน้ำภายในโครงการฯ จะพบสัตว์หน้าดินมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแปลงสาธิตความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดูจากฐานข้อมูลการสำรวจสัตว์หน้าดิน และศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ น้ำ พบว่า ความเค็มของน้ำ สภาพความเป็นกรด – ด่าง และปริมาณของออกซิเจนในน้ำ มีผลต่อปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญของสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน ศึกษาอิทธิพลของเชื้อจุลินทรีย์ และการปรับปรุงฟื้นฟูดินปลูกต้นไม้ บริเวณพื้นที่ปลูกป่าชายเลนของโครงการฯ จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ความเป็นกรด - ด่างของดินมีค่าเปลี่ยนแปลงน้อย แต่มีปริมาณแร่ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียมมีปริมาณลดลง โดยมีการค้นพบกลุ่มจุลินทรีย์ และเชื้อรา ซึ่งมีความสามารถในการย่อยเซลลูโลส ละลายสารอาหารในดิน และควบคุมโรคพืช ซึ่งโครงการฯ ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรดินเค็มแฝงเปรี้ยว ร่วมกับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และปูนโดโลไมด์ เพื่อศึกษาผลของการเจริญเติบโตของไม้ชายเลนชนิดต่างๆ ที่ปลูกในบริเวณที่มีน้ำขัง และไม่มีน้ำขัง พบว่า ฝาดดอกขาว เป็นพืชที่มีผลตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย และปูนขาวในการปรับปรุงดิน สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไปจะจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาดิน และคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ป่าชายเลนต่อไป
ที่สำคัญ ในปัจจุบันนี้โครงการฯ สามารถพลิกฟื้นป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญได้เป็นอย่างดี
การดำเนินงานในระยะต่อไป จะดำเนินการขยายผลโครงการฯ โดยการจัดหาพื้นที่เสื่อมโทรม ในบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา เพื่อดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลนตามแนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ โดยประสานความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลสิงหนคร และชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน ต่อไป