โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน และพืชน้ำมันอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา
อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ความเป็นมา
ตุลาคม 2546 |
รศ.ดร.นลิน นิลอุบล สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ประโยชน์จากเมล็ดชาและเสนอให้มีการส่งเสริมการปลูกชาชนิด Camellia Oleiferaสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชกระแสกับ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาว่าทรงสนพระทัยในการนำชาน้ำมันมาปลูกในประเทศไทย |
มิถุนายน 2547 |
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เดินทางไปโรงงานชาน้ำมัน เมืองคุณหมิง มณฑล ยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน |
กันยายน 2547 |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทดลองปลูกชา Camellia Oleifera เพื่อผลิตน้ำมันเมล็ดชา |
พฤศจิกายน 2547 |
สถาบันพฤกษศาสตร์มณฑลยูนาน ส่งเมล็ดพันธุ์ และต้นอ่อนชาน้ำมันประเภทดอกสีแดง และสีขาวเพื่อนำมาทดลองปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ |
ปี 2548 |
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติแต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ ดิศนัดดา ดิศกุล ให้เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา |
กันยายน 2548 |
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษาชนิดและพันธุ์ของชาน้ำมัน วิธีการปลูกชาน้ำมัน ชมแปลงปลูกชาน้ำมัน และเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาน้ำมันในเมืองคุนหมิง และหนานหนิง |
ตุลาคม 2548 |
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านชาน้ำมันจากสถาบันวิจัยป่าไม้กวางสี มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ ศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศในภาคเหนือของประเทศไทย รวมทั้งแนะนำสายพันธุ์ใหม่ของชาน้ำมัน |
พฤศจิกายน 2548 |
คณะทำงานฝ่ายไทย ได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาเพิ่มเติม และจัดหาเมล็ดพร้อมต้นอ่อนชาน้ำมันพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับภูมิอากาศในประเทศไทย โดยคณะทำงานได้นำเมล็ดพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม รวมทั้งต้นอ่อนประมาน 200,000 ต้นจากเมืองหูหนาน เพื่อดำเนินการทดลองปลูกและขยายพันธุ์ชาน้ำมัน |
ปี 2549 – 2550 |
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดำเนินการปลูกกล้าชาน้ำมันในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง กว่า 3,000 ไร่ |
วัตถุประสงค์โครงการ / เป้าหมาย
- เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการปลูกต้นชาน้ำมัน ตลอดจนพฤติกรรมการเจริญเติบโต และศักยภาพการให้ผลผลิตของต้นชาน้ำมันในพื้นที่ดำเนินการ
- เพื่อแก้ไขความยากจน และพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่ราษฎรในพื้นที่
- เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการบุกรุกทำลายป่า
ลักษณะโครงการ / กิจกรรม
โครงการส่งเสริมการปลูกต้นชาน้ำมัน โดยให้ชาวไทยภูเขามาร่วมโครงการ เริ่มเพาะ เริ่มปลูก ดูแลรักษา และเก็บผลผลิตน้ำมันเมล็ดชาเพื่อจำน่ายให้กับโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและ
พืชน้ำมัน เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันเมล็ดชา พร้อมทั้งทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และการดูแลรักษาต้นชาน้ำมัน
สถานที่ตั้งโครงการและข้อมูลติดต่อ
ที่ตั้งโครงการ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน 888 หมู่ 10 ตำบลเวียงพางคำ
อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 57130
โทรศัพท์ : 053-734-140-2
โทรสาร : 053-734-140-2 ต่อ 205
เว็บไซต์ : www.teaoilcenter.org
Facebook : teaoilcenter
อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 57130