วันที่ 22 มีนาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 3 ณ ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีปี 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับกองพลทหารราบที่ 3 จัดตั้ง “โครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 3” ขึ้นที่ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา จังหวัดอุดรธานี บนเนื้อที่ดำเนินงาน 142 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา
กองพลทหารราบที่ 3 ได้มอบหมายให้กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ดำเนินงานโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” อันเป็นโครงการในพระราชดำริ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้กำลังพลปลูกผักสวนครัวบริเวณบ้านพัก เพื่อให้มีผักปลอดภัยบริโภคและเพื่อลดรายจ่าย อีกทั้งได้ดำเนินโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ซึ่งปัจจุบันปลูกไม้ผลในพื้นที่ 25 ไร่ มีไม้ผลรวม จำนวน 9 ชนิด 31 สายพันธุ์ รวมทั้งสิ้น 1,653 ต้น
ในการเสด็จฯ วันนี้ ทรงเปิดศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ 3 ศูนย์ คือ
ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือตอนบน
ศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือ
ศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ จากกองทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา แก่กองทัพภาคที่ 2 เพื่อจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือตอนบน เพื่อผลิตพันธุ์ปลาสำหรับพระราชทานแก่ราษฎร
ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือตอนบน ได้เพาะพันธุ์ปลา 2 ชนิด คือ ปลานิลจิตรลดาและปลาตะเพียนขาว น้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระราชทานแก่ราษฎร ในการนี้ ทรงปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดา จำนวน 999 ตัว ลงสู่สระน้ำของศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา เพื่อผลิตลูกปลานิลจิตรลดาพระราชทานแก่ราษฎรต่อไป ศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่อีสานเหนือ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ปีก 4 ชนิด คือ เป็ดเทศกบินทร์บุรี ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ และไก่งวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนลูกไก่งวง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อเมริกันบรอนซ์ และสายพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีกกบินทร์บุรี
พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพันธุ์ไก่งวงพันธุ์อเมริกันบรอนช์และพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ จำนวน 3 ตัว แก่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 13 และพระราชทานพันธุ์กบนานครนายก แก่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 13 เพื่อผลิตเป็นพันธุ์ไก่งวงและพันธุ์กบพระราชทาน
จากนั้นพระราชทานพันธุ์สัตว์ปีก ประกอบด้วย พันธุ์ไก่ประดู่หางดำและพันธุ์เป็ดเทศกบินทร์บุรี ซึ่งผลิตโดยทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 3 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา โดยพระราชทานพันธุ์ไก่ประดู่หางดำ แก่เกษตรกร 20 ราย และพระราชทานพันธุ์เป็ดเทศกบินทร์บุรีแก่เกษตรกร 20 ราย เพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้
โครงการทหารพันธุ์ดี กองพลทหารราบที่ 3 ได้ปลูกถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธุ์ เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ บนพื้นที่ 1 ไร่ น้อมเกล้าฯ ถวายสำรองไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรในยามที่ประสบภัย อีกทั้งได้จัดทำแปลงผักปลอดภัยเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับฝึกกำลังพลให้เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยสำหรับบริโภค และนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปขยายผลสู่ภูมิลำเนาของตนเอง สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ท้ายนี้ได้พระราชทานพระราโชวาทแก่ทหารพันธุ์ดีผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่สืบไป
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นศักยภาพของกองทัพบกที่นอกจากจะต่อสู้กับอริราชศัตรูของประเทศแล้ว หน่วยทหารของกองทัพบกยังมีความสามารถด้านกสิกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพบกจัดตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี ฝึกให้กำลังพลมีความรู้และประสบการณ์ในการปลูกผักปลอดภัยนำไปขยายผลสู่ประชาชน ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ทหารพันธุ์ดีเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อสะสมสำรองไว้พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหรือในยามที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤต ให้มีพืชผักบริโภคไม่ขาดแคลน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานความมั่นคงทางอาหารแก่พสกนิกร อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงของประเทศไทยสืบไป