- หน้าแรก
- ข่าว
- ข่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ณ แปลงปลูกชาน้ำมัน บ้านปางมะหัน ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย
โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นของชาวบ้านและชาวเขาบนดอย อีกทั้งเป็นการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินบริเวณริมฝั่งต้นน้ำลำธารได้เป็นอย่างดี และในอนาคตหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถดัดแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามได้อีกทางหนึ่ง โครงการนี้ เริ่มดำเนินการเมื่อปลายปี ๒๕๔๗ โดยการนำตัวอย่างเมล็ดพันธุ์และต้นอ่อนของชาน้ำมันจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาศึกษาทดลองในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา และพื้นที่ศึกษาทดลองของกรมวิชาการเกษตร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชาน้ำมัน เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ THEACEAE มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia oleifera Abel. เป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕ - ๔ เมตร ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีมากทางจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบ ไหล่เขา และริมลำธาร ที่ระดับความสูง ๔๐๐-๑,๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล น้ำมันที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง เทียบเท่า หรือดีกว่าน้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงและมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆ ใกล้เคียงกัน น้ำมันชามีสรรพคุณทางการแพทย์ในการป้องกันโรคเบาหวาน ลดความดันในกระแสเลือด ลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และช่วยป้องกันเกี่ยวกับโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจได้ นอกจากนี้ ในน้ำมันชามีกรดประเภท Oleic acid, Palmitic acid, Linoleic และ Stearic acid ซึ่งเป็นสารประกอบหลักในการทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น จึงมีความสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันชามานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ปัจจุบันพบว่ามีการปลูกอยู่ถึง ๑๐๕ เขต โดยฉพาะที่เมืองหูหนานและเมืองเจียงสีใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร ประมาณว่าประชากรจีนหนึ่งในเจ็ดครอบครัวใช้น้ำมันชาในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะมณฑลทางใต้ของประเทศบริโภคน้ำมันชามากกว่าร้อยละ ๕๐ และความต้องการใช้น้ำมันชาในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีสูงถึง ๔๘๕,๐๐๐ - ๕๕๑,๐๐๐ ตันต่อปี ภายหลังจากที่หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา ได้นำคณะทำงานโครงการฯ ไปศึกษาชนิดและพันธุ์ วิธีการปลูก ชมแปลงปลูก และเยี่ยมชมโรงงานผลิตชาน้ำมันในเมืองคุณหมิงและเมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านชาน้ำมันของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาถ่ายทอดความรู้ ศึกษาพื้นที่และสภาพภูมิประเทศในภาคเหนือของประเทศไทย แนะนำสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตน้ำมันมากกว่าพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยป่าไม้กวางสี มณฑลยูนนาน และมณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน การดำเนินงานโครงการฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของชาน้ำมันในแหล่งปลูกในประเทศไทย เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในประเทศไทย ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนองพระราช ดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการเพาะต้นกล้าชาน้ำมัน จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ ต้น และจัดหาพื้นที่ปลูกชาน้ำมันเพิ่มเติม อีกประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงฯ และพื้นที่ใกล้เคียง จากเดิมที่ได้ดำเนินการปลูกไปแล้ว จำนวน ๓,๐๐๐ ไร่ ทำให้ในปัจจุบันมีพื้นที่ในการปลูกป่าชาน้ำมัน ๕,๐๐๐ ไร่ ส่งผลให้ราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนได้มีงานทำในพื้นที่ มีรายได้ ไม่ต้องออกไปรับจ้างทำงานที่อื่น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการลดปัญหาการเกิดไฟป่าและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ป่าอีกด้วย |
วันที่ : 2007-02-12 |
แหล่งข่าว : สำนักประชาสัมพันธ์ |